ศิลปะการรุกและรับ ตามแบบฉบับมวยไทย

Share : facebook share line share.png twitter share messenger share

ศิลปะการรุกและรับ ตามแบบฉบับมวยไทย



ศิลปะการรุกและรับตามแบบฉบับ มวยไทย ( Muay Thai ) เป็นการเลือกใช้ไม้มวยไทยและกลวิธีต่างๆ มาผสมผสานกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

     “ไม้มวยไทย” ที่ใช้ในการชก มวยไทย ( Muay Thai )  ได้แก่ หมัด เท้า เข่า และศอก ซึ่ง การใช้หมัดชกคู่ต่อสู้ เรียกว่า “ไม้หมัด” การใช้เท้าเตะคู่ต่อสู้เรียกว่า “ไม้เตะ” การใช้เท้าถีบเรียกว่า “ไม้ถีบ” การใช้เข่าเรียกว่า “ไม้เข่า” การใช้ศอกเรียกว่า “ไม้ศอก” และยังมีการแบ่งตามลักษณะความสั้น-ยาวของการใช้ไม้มวยไทย โดยแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ไม้สั้น และ ไม้ยาว อีกด้วย

 

ศิลปะการรุก

     ไม้รุก คือ การใช้ไม้มวยต่างๆ มาประกอบกัน เพื่อการโจมตีคู่ต่อสู้ มีทั้งการหลอกล่อและเข้าสู้กันจริง โดยทั่วไปไม้นำของไม้รุกจะเป็นไม้ยาว มีความรวดเร็ว รัดกุม มีหลักมั่นคง และสามารถใช้ไม้อื่นต่อไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการใช้ไม้จังหวะแรกว่าได้ผลดีหรือไม่ จึงนิยมใช้ไม้มวยแบบสลับบนล่าง หรือ ซ้ายสลับขวา เพื่อให้คู่ต่อสู้พะวง ถ้าใช้ไม้รุกเฉพาะส่วน หรือ ส่วนล่างอย่างเดียว จะง่ายต่อการป้องกันแก้ไข

 

     โดยทั่วไปไม้รุก มีตั้งแต่ 1 จังหวะจนไม่จำกัดจำนวน แต่ที่นิยมใช้และได้ผลดี รวมทั้งฝึกหัดได้ง่าย คือ ไม้รุก 1 จังหวะ, 2 จังหวะ และ 3 จังหวะ

 

- ไม้รุก 1 จังหวะ : การรุกเข้าไปแล้วใช้ไม้มวยเพียงอย่างเดียว เช่น การชกหมัดตรงขวา เตะขวา โยนเข่าขวาหรือด้านที่ถนัดที่สุด

 

- ไม้รุก 2 จังหวะ : การรุกเข้าไปแล้วใช้ไม้มวย 2 จังหวะ โดยจังหวะที่ 1 เป็นไม้หลอก เพื่อให้คู่ต่อสู้เสียหลัก แล้วตามด้วยใช้ไม้จริงในจังหวะที่ 2 แต่ต้องตามกันไปอย่างรวดเร็ว

 

- ไม้รุก 3 จังหวะ : การรุกเข้าไปแล้วใช้ไม้มวยจังหวะที่ 1,2 และ 3 ติดต่อกัน เช่น ต่อยหมัดนำ หมัดตรง แล้วเตะตาม หากฝึกจนเกิดความชำนาญจะสามารถใช้ไม้สั้น เช่น ศอก เข่า หมัดตวัด หมัดงัด เป็นไม้นำได้เช่นกัน

 

ศิลปะการรับ

      ไม้รับ คือ การนำเอาไม้มวยต่างๆ มาประกอบเข้าด้วยกัน เพื่อแก้ไขการจู่โจมของฝ่ายรุก ไม้มวยชนิดหนึ่งอาจแก้การจู่โจมของไม้มวยชนิดเดียวกันหรือต่างชนิดได้ หรือแก้ทีละไม้ เช่น แก้การต่อย แก้การเตะ แก้การถีบ แก้การศอก แต่ในการชกมวยจริงๆ ไม่ได้ชกหรือเตะเพียงจังหวะเดียว แต่จะรุกเป็นชุด จึงต้องทำทุกอย่างเพื่อแก้ไขการจู่โจม เช่น การถอยออกให้พ้นระยะ เพื่อไม่ให้ถูกอาวุธของคู่ต่อสู้ การหลบหลีก การปัดป้อง และการตอบโต้ ซึ่งมีทั้งการชิงลงมือก่อน การถอยแล้วตอบโต้ การหลบหลีกแล้วตอบโต้

 

1. การหลอกล่อ คือ การเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อให้คู่ต่อสู้เข้าใจผิด หรือเพื่อไม่ให้คู่ต่อสู้จับทางได้ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวอวัยวะต่างๆ โดยไม่เคลื่อนที่ไปจากที่เดิม แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ

- หลอกด้วยสายตา : มองสูงแต่ใช้ไม้มวยไปสู่เป้าหมายที่ต่ำ หรือ มองต่ำแต่ใช้ไม้มวยไปสู่เป้าหมายที่สูง

- หลอกด้วยศีรษะ : การเคลื่อนไหวศีรษะไปมาทั้งด้านซ้ายและด้านขวา เพื่อให้คู่ต่อสู้หลงทาง

- หลอกล่อด้วยการเคลื่อนไหวลำตัว : การอาศัยความอ่อนตัว เช่น การโยกเอวหรือโยกลำตัวไปทางซ้ายและขวา

 

2. การถอยให้พ้นระยะ คือ การถอยให้ห่างจากคู่ต่อสู้ อาจกระโดดเคลื่อนเท้าถอยหลัง หรือก้าวถอยหลัง แต่ต้องให้พ้นระยะไม้มวยของคู่ต่อสู้ ในการถอยเมื่อพ้นระยะแล้ว จะต้องอยู่ในท่าที่พร้อมจะตอบโต้คู่ต่อสู้ทันที

 

3. การโยกตัวหรือการเอนตัวให้พ้นระยะ คือ การโยกตัวหรือเอนตัวออกให้พ้นระยะคู่ต่อสู้

 

4. การหลบหลีก คือ การเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพื่อหลบหลีกไม้มวยของคู่ต่อสู้ที่จู่โจมมา อาจใช้วิธีก้มตัวหลบด้านซ้ายและขวา

 

5. การปัดให้เบี่ยงเบนออกไป คือ การใช้มือหรือแขนปัดไม้มวยไปยังเป้าหมายอื่น

 

6. การปัดป้อง คือ การใช้ส่วนต่างๆ ที่แข็งแรงของร่างกายปัดป้องอวัยวะที่เป็นจุดอ่อนของร่างกาย เช่น การใช้เข่าปัดป้องท้อง รวมถึงบริเวณลำตัว การใช้ศอกและเข่าบริเวณหน้าอก

 

7. การบังเกาะจับ คือ การบังไม่ให้ไม้มวยคู่ต่อสู้ปะทะกับตัวเรา การบังนั้นจะต้องอาศัยการผ่อนแรงถูกจังหวะและเหมาะสมจึงจะได้ผลดี เมื่อบังเกาะจับได้แล้ว ก็สามารถใช้ไม้มวยตอบโต้ได้ทันที

 

8. การทำให้ล้ม ในมวยไทยมีหลายแบบ แต่ที่ถูกต้องตามกติกาคือ ใช้วิธีการบังเกาะจับแล้วผลักให้ล้ม หรือการกอดรัดแล้วเหวี่ยงให้ล้ม

 

     และนี่คือ ศิลปะการรุก (ไม้รุก) และศิลปะการรับ (ไม้รับ) ที่น่าสนใจของ มวยไทย ( Muay Thai ) เหมือนจะเป็นเรื่องง่ายแต่จริงๆ แล้วต้องอาศัยความชำนาญจากการหมั่นฝึกซ้อม เพื่อให้เลือกใช้ไม้มวยไทยและกลวิธีต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ohlor

อ่านบทความน่าสนใจ :

- อาวุธโจมตีของมวยไทยอันไหนอันตรายที่สุด

- เทคนิค ฝึกสายตาให้ไวเหมือนนักมวย



บทความที่น่าสนใจ

ต่อยมวยก็ช่วยลดน้ำหนักได้นะ
ข้อดี ในการฝึก มวยไทย ( Muay Thai ) ที่ดีต่อร่างกาย