กว่าจะเป็นมวยไทย

Share : facebook share line share.png twitter share messenger share

กว่าจะเป็นมวยไทย



"มวย" ถือเป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีมาตั้งแต่โบราณ สอนกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนสู่ปัจจุบัน แต่ใครจะรู้ว่ากว่าจะมาเป็นมวยไทยถึงทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เรามาดูกันเถอะว่าที่มาของมวยไทยกำเนิดมาได้ยังไง

 

ประวัติมวยไทยเป็นประวัติศาสตร์อันยาวนานของมวยไทย เริ่มมีและใช้กันในการสงครามสมัยก่อน มีคุณลักษณะของการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยการใช้อวัยวะในส่วนที่สามารถใช้ทำอันตรายคู่ต่อสู้ได้ มาใช้งานอย่างชาญฉลาด และมีศิลปะอย่างสูง  เช่น  หมัด  ศอกแขน  เท้า  แข้ง  และเข่าเป็นต้น  นับเป็นศิลปะประจำชาติ และเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นประการหนึ่งของคนไทย  และได้มีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างจริงจังในหมู่ทหาร เพราะในสมัยก่อน คนไทยต้องผจญกับศึกสงครามมาโดยตลอด  จึงต้องฝึกฝนไว้ให้เชี่ยวชาญเพื่อใช้ในการต่อสู้  และจัดตั้งสำนักมวยขึ้นเพื่อฝึกสอนให้ลูกหลานมาสืบทอดวิชาต่อจากคนในครอบครัว

 

          ประวัติมวยไทยสมัยกรุงสุโขทัย (ประมาณช่วงระหว่าง ปี พ.ศ. 1781-1918)

     สมัยกรุงสุโขทัย มวยไทยถือเป็นศาสตร์ชั้นสูงที่ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษาของกษัตริย์ เพื่อฝึกให้กษัตริย์เป็นนักรบที่มีความกล้าหาญ มีสมรรถภาพร่างกายที่ดีเยี่ยม ดังข้อความปรากฏตามพงศาวดารว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงส่งเจ้าชายร่วงโอรสองค์ที่สองไปฝึกมวยไทยที่สำนักสมอคอน แขวงเมืองลพบุรี หรือการที่พ่อขุนรามคำแหงทรงนิพนธ์ตำหรับพิชัยสงคราม โดยมีความข้อความบางตอนกล่าวถึงมวยไทย ควบคู่ไปกับการใช้อาวุธอย่างดาบ หอก มีด โล่ หรือธนูอีกด้วย

 

          ประวัติมวยไทย สมัยกรุงศรีอยุธยา (ประมาณช่วงระหว่าง ปี พ.ศ. 1893 – 2310)

     สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยุคนี้บ้านเมืองสงบร่มเย็นและเจริญรุ่งเรือง พระองค์ทรงให้การสนับสนุนและส่งเสริมการกีฬาอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมวยไทยที่นิยมกันจนกลายเป็นมวยอาชีพ และมีค่ายมวยต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย มวยไทยสมัยนี้ชกกันบนลานดิน โดยใช้เชือกเส้นเดียวกั้นบริเวณเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส นักมวยจะใช้ด้ายดิบชุบแป้งหรือน้ำมันดินจนแข็งพันมือ เรียกว่า มวยคาดเชือก นิยมสวมมงคลไว้ที่ศีรษะ และผูกประเจียดไว้ที่ต้นแขนตลอดการแข่งขัน การเปรียบคู่ชกนั้นเอาความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย ไม่ได้กำหนดขนาดรูปร่างหรืออายุ โดยมีกติกาง่าย ๆ ว่าชกจนกว่าอีกฝ่ายจะยอมแพ้

 

          ประวัติมวยไทยสมัยกรุงธนบุรี (ประมาณช่วงระหว่าง ปี พ.ศ. 2310 – 2325)

     ตลอดระยะเวลา 14 ปีของกรุงธนบุรี บ้านเมืองอยู่ในช่วงฟื้นฟูหลังจากพระเจ้าตากสินกอบกู้อิสรภาพคืนมาได้ การฝึกมวยไทยในสมัยนี้จึงฝึกเพื่อราชการทหารและสงครามอย่างแท้จริง การจัดชกมวยในสมัยกรุงธนบุรีนิยมนำนักมวยต่างถิ่นหรือศิษย์ต่างครูมาชกกัน โดยไม่มีกฎกติกาการแข่งขันอย่างเป็นรูปธรรมและไม่มีการกำหนดคะแนน จะทำการชกกันจนกว่าอีกฝ่ายจะยอมแพ้ บนสังเวียนซึ่งเป็นลานดินบริเวณวัด คาดมงคลและนิยมผูกประเจียดเช่นเดิม

 

          ประวัติมวยไทย สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (ประมาณช่วงระหว่าง ปี พ.ศ. 2325 – ปัจจุบัน)

     กีฬามวยไทยได้รับความนิยมมากในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ยุคที่นับว่าเฟื่องฟูที่สุดคือ รัชกาลที่ 5 พระองค์ได้ศึกษาฝึกฝนการชกมวยไทยและโปรดให้จัดการแข่งขันชกมวยหน้าพระที่นั่งโดยคัดเลือกนักมวยฝีมือดีจากภาคต่าง ๆ มาประลองแข่งขัน และพระราชทานแต่งตั้งให้มีบรรดาศักดิ์ ทั้งยังโปรดให้กรมศึกษาธิการ บรรจุการสอนมวยไทยเป็นวิชาบังคับ ในโรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษา มีการชกมวยถวายหน้าพระที่นั่งเป็นประจำจนถึงสมัย รัชกาลที่ 6 ที่วังสวนกุหลาบ ทั้งการต่อสู้ประลองระหว่างนักมวย กับครูมวยชาวไทยด้วยกัน และการต่อสู้ระหว่างนักมวย กับครูมวยต่างชาติ ในการแข่งขันชกมวยในสมัยรัชกาลที่ 6 ระหว่างมวยเลี่ยะผะ (กังฟู) ชาวจีนโพ้นทะเล ชื่อนายจี่ฉ่าง กับ นายยัง หาญทะเล ศิษย์เอกของ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มีท่าจรดมวยแบบมวยโคราช ซึ่งเน้นการยืดตัวตั้งตระหง่านพร้อมที่จะรุกและรับโดยเน้นการใช้เท้าและหมัดเหวี่ยง และต่อมาได้เป็นแบบอย่างในการฝึกหัดมวยไทยในสถาบันพลศึกษาส่วนใหญ่ สมัย รัชกาลที่ 7 ในยุคแรกการแข่งขันมวยไทยใช้การพันมือด้วยเชือก จนกระทั่งนายแพ เลี้ยงประเสริฐ นักมวยจากท่าเสา จังหวัดอุตรดิตถ์ ต่อยนายเจียร์ นักมวยเขมร ด้วยหมัดเหวี่ยงควายถึงแก่ความตาย จึงเปลี่ยนมาสวมนวมแทน ต่อมาเริ่มมีการกำหนดกติกาในการชก และมีเวทีมาตรฐานขึ้นแห่งแรกคือเวทีมวยลุมพินีและเวทีมวยราชดำเนินจัดแข่งขันมวยไทยมาจนปัจจุบัน

 

ในการสถาปนาวันมวยไทยได้มีการประชุมระดมความคิดจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่าง ๆ เพื่อพิจารณาบรรพบุรุษไทยตั้งแต่พระมหากษัตริย์จนถึงสามัญชน นับจากพ่อขุนรามคำแหงมหาราช สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระ สมเด็จพระพุทธเจ้าเสือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาพิชัยดาบหัก และนายขนมต้ม

ทั้งนี้ เมื่อศึกษาพระราชประวัติ พระคุณลักษณะ พระเอกลักษณ์ที่โดดเด่นด้านศิลปะมวยไทยของบรรพบุรุษไทยทั้งหมดแล้ว จึงมีมติให้เลือกวันสำคัญวันใดวันหนึ่งของสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือเป็นวันมวยไทย เนื่องด้วยสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือ เป็นพระมหากษัตริย์ที่โปรดการชกมวยและได้เสด็จไปทรงชกมวยกับสามัญชน นอกจากนี้แล้วยังทรงคิดท่าแม่ไม้ ไม้กลมวยไทยขึ้นมาเป็นแบบฉบับ ที่รู้จักกันในนาม ตำรามวยไทยพระเจ้าเสือ เป็นมรดกตกทอดสืบมาจนถึงปัจจุบัน จึงได้กำหนดให้ วันเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเป็น วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ เป็น “วันมวยไทย”

 

          คุณลักษณะของมวยไทย

     มวยไทยใช้อวัยวะ 6 อวัยวะ ในการต่อสู้กับปรปักษ์ ได้แก่ หมัด ศอก แขนท่อนล่าง เท้า แข้ง และเข่า เข้ากระทำกับคู่ต่อสู้ ด้วยการเข้าชก ต่อย เขก โขกทุบ เตะ ถีบ เหน็บ อัด ยัน เหยียบ เหวี่ยง ปัก ทิ่ม เฉือน กระทุ้ง สับ เสียบเฆี่ยน กด ทุ่ม ฟาด มัด รัด หักแขน หักขา หักคอ  ฯลฯ  อวัยวะแต่ละชนิดดังกล่าวมีวิธีใช้ดังนี้

1. หมัดใช้ทิ่มกระแทก กระทุ้ง ซึ่งมีทั้งกระทุ้งขึ้นและกระทุ้งลง  เหวี่ยง ซึ่งมีซึ่งเหวี่ยงสั้นและเหวี่ยงยาวเขก โขก และทุบ

2. ศอกใช้เหวี่ยง ปัก งัด ทิ่ม เฉือน กด และกระทุ้ง

3. แขนท่อนล่าง  ใช้สับ เสียบ ปัด เหวี่ยง และเฆี่ยน

4. เท้า  ใช้ถีบ เหน็บ อัด คือการเตะด้วยปลายโต่ง ยัน เหยียบ เตะ และกระตุกเท้า

5. แข้งใช้เหวี่ยงซึ่งมีทั้งเหวี่ยงสั้นและเหวี่ยงยาว

6. เข่าใช้ยิงโยน ยัด เหวี่ยง กุด และกระตุก

 

      “มวยไทย” เป็นศิลปะการต่อสู้ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทย ยากที่จะเลียนแบบได้ เพราะศิลปะนี้เกิดขึ้นตามประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่ได้มีการสู้รบกับชาติข้างเคียง เพื่อรักษาแผ่นดินสยามนี้มาโดยตลอด

            แม้ว่ากีฬาเกี่ยวกับการชกมวยไทยจะยอมรับกติกามวยแบบสากลแล้วก็ตาม แต่ในส่วนพื้นฐานจริง ๆ ของความเป็นมวยไทย เรายังรักษาไว้ มั่นคงตราบเท่าทุกวันนี้คือ ยังคงใช้ หมัด เท้า ศอก เข่า อันเป็นเอกลักษณ์ของมวยไทยอยู่อย่างเหนียวแน่น

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

ผู้หญิง กับการต่อยมวย

ต่อย มวยไทย ช่วยบำบัดโรคซึมเศร้า



บทความที่น่าสนใจ

มวยไทย ศิลปะการต่อสู้อันดับ 1 ของโลก
มวยไทยตัวช่วยในการควบคุมอารมณ์