มวยไทยโบราณ 4 ภาค

Share : facebook share line share.png twitter share messenger share

มวยไทยโบราณ 4 ภาค



มวยไทยถือเป็นศิลปะป้องกันตัวของไทย เป็นที่นิยมกันมากขึ้น เพราะ การต่อยมวยถือว่าเป็นการออกกำลังกาย แต่หลายคนคงไม่รู้ว่ามวยไทยโบราณของบ้านเรา มีถึง 4 ภาค ซึ่งมีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป เรามาทำความรู้จักมวยไทยโบราณ 4 ภาค กันค่ะ

 

     มวยไทย ( Muay Thai ) เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวที่สามารถนำไปใช้ได้ ทั้งเชิงกีฬา และการต่อสู้จริง ศิลปะประเภทนี้มีมาตั้งแต่โบราณ วันนี้เราเลยจะมาดูกันว่า ศิลปะการต่อสู้โบราณ ทั้ง 4 ภาค จะมีเอกลักษณ์แบบใดบ้าง

 

          ภาคกลาง มวยลพบุรี

     มวยลพบุรี หรือ มวยไทยภาคกลาง โดยมีเอกลักษณ์ คือ การพันข้อเท้า และพันมือมาถึงข้อแขน ซึ่งจะเป็น เอกลักษณ์ที่ชัดเจนของมวยลพบุรี เป็นมวยที่ไม่เน้นความดุดัน ไม่เน้นกำลัง แต่เน้นใช้ควาดคิด ใช้ความฉลาดในการชก มีความเร็วในจังหวะรุก และจังหวะรับ รุกรับคล่องแคล่วว่องไว ต่อยหมัดตรงได้แม่นยำ

     เรียกลักษณะการต่อยมวยแบบนี้ว่า “มวยเกี้ยว” ซึ่งหมายถึง มวยที่ใช้ชั้นเชิงเข้าทำคู่ต่อสู้ โดยใช้กลลวงมากมาย จะมีการเคลื่อนตัวอยู่เสมอ หลอกล่อหลบลีกได้ดี สายตาดี รุกรับ และออกอาวุธ หมัด เท้า เข่า ศอก ได้อย่างรวดเร็ว

 

          ภาคเหนือ มวยท่าเสา

     มวยไทยท่าเสา เป็นสายมวยไทยภาคเหนือ ที่ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าสายมวยไทยท่าเสากำเนิดขึ้นเมื่อใดใครเป็นครูมวยคนแรกแต่จากหลักฐานที่ปรากฏอยู่ทำให้ทราบว่าครูมวยไทยสายท่าเสาที่มีชื่อเสียงโด่งดังคนหนึ่งคือ ครูเมฆที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นในเรื่องความคล่องแคล่วว่องไว รวดเร็ว เด็ดขาด มีลีลาท่าทางสวยงาม และมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้เตะ ถีบ และศอก เป็นที่ลือกระฉ่อนจนนายทองดี เองถึงกับปฎิญาณกับตัวเองว่าจะต้องมาขอเรียนศิลปะมวยไทยกับสำนักท่าเสาให้ได้ และก็ได้มาเป็นลูกศิษย์ของครูเมฆผู้ประสิทธิประสาทวิชามวยไทยให้แก่ นายทองดี ซึ่งได้นำความรู้ที่ได้รับไปผสมผสานกับมวยจีนอีกต่อหนึ่ง เมื่อนายทองดีได้เป็นเจ้าเมืองพระยาพิชัย ก็ได้มาคารวะครูเมฆและแต่งตั้งให้ครูเมฆเป็นกำนันปกครองตำบลท่าอิฐต่อไป ครูเมฆได้ถ่ายทอดวิชาให้แก่ผู้สืบสกุลต่อมาจนถึงครูเอี่ยม ครูเอี่ยมถ่ายทอดแก่ผู้สืบสกุลคือครูเอม ครูเอมถ่ายทอดแก่ผู้สืบสกุลคือครูอัด  คงเกตุ ซึ่งเมื่อครูอัด คงเกตุ และลูกศิษย์มาชกมวยในกรุงเทพฯ ก่อนสงครามโลก ครั้งที่ 2 ได้ใช้ซื่อค่ายมวยว่า เลือดคนดง ครูเอมยังได้ถ่ายทอดวิชามวยไทยให้แก่หลานตาอีก 5 คน รุ่นราวคราวเดียวกับครูอัด ทั้ง 5 คน เป็นนักมวยตระกูล เลี้ยงเชื้อ ซึ่งต่อมา กรมหลวงชุมพรฯ ได้เปลี่ยนให้เป็น เลี้ยงประเสริฐ เป็นบุตรนายสอน นางขำ (ลูกครูเอม) สมพงษ์ แจ้งเร็ว เขียนกล่าวว่า ทั้ง 5 คน เป็นยอดมวยเชิงเตะ มีกลเม็ดเด็ดพรายแพรวพราวทุกกระบวนท่าที่ได้สืบทอดมาจากสำนักท่าเสาของครูเมฆจนมีชื่อเสียงลือลั่นในช่วงเวลานั้น ทั้ง 5 คน ได้แก่

1. ครูโต๊ะ เกิดประมาณ พ.ศ.2440 เป็นบุตรคนที่ 2 ของนายสอน และนางขำ เป็นนักมวยที่มีอาวุธหนักหน่วง และเชิงเตะ เข่า และหมัดรวดเร็ว

2. ครูโพล้ง เกิดปี พ.ศ.2444  มีอาวุธมวยไทยรอบตัว โดยเฉพาะลูกเตะที่ว่องไว และรุนแรง และความสามารถในการถีบอย่างยอดเยี่ยม จนได้รับฉายาว่า มวยตีนลิง ครูโพล้งมีเอกลักษณ์การไหว้ครูร่ายรำตามแบบฉบับของสำนักท่าเสา ในจำนวน 5 คน ครูโพล้ง มีฝีมือยอดเยี่ยมที่สุด เมื่อมาชกกรุงเทพ ฯ เคยชนะ นายสร่าง  ลพบุรี และครูบัว  วัดอิ่ม เคยชนะนายสิงห์วัน ประตูเมืองเชียงใหม่ ที่เชียงใหม่ และนายผัน เสือลาย ที่โคราช แต่เคยพลาดท่าแพ้ นายสุวรรณนิวาสวัด ที่กรุงเทพ ฯ ครั้งหนึ่ง เพราะโดนจับขาเอาศอกถองโคนขาจนกล้ามเนื้อพลิก

3. ครูฤทธิ์ เกิดปี พ.ศ.2446 มีฝีมือไม่ยิ่งหย่อนกว่าพี่น้องทั้งหลาย เคยชกชนะหลายครั้งที่กรุงเทพฯ และเคยชกเสมอ บังสะเล็บ ครูมวยคณะศรไขว้ (ลูกศิษย์ครูแสง  อุตรดิตถ์ ผู้สืบทอดสายมวยพระยาพิชัยดาบหัก)

4. ครูแพ เกิดปี พ.ศ.2447 เป็นนักมวยเลื่องชื่อระดับครูโพล้ง เคยปราบ บังสะเล็บ  ศรไขว้ ชนิดที่คู่ต่อสู้บอบช้ำมากที่สุด และชก นายเจียร์  พระตะบอง นักมวยแขกครัวเขมร ถึงแก่ความตายด้วยไม้หนุมานถวายแหวน ทางราชการจึงกำหนดให้มีการสวมนวมแทนคาดเชือก ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

5. ครูพลอย เกิดปี พ.ศ.2450  เป็นมวยที่คล่องแคล่วว่องไวในเชิงเตะ ถีบ และหมัด เนื่องจาก ครูโพล้ง เป็นผู้ถ่ายทอดเชิงชกให้ด้วย ครูพลอยถึงถอดแบบการใช้เท้าจากครูโพล้ง ครูพลอยเคยมาชกชนะในกรุงเทพฯ หลายครั้งแต่ก็ได้ถึงแก่กรรมเมื่ออายุเพียง 24 ปีเท่านั้น

     นอกจากครูโพล้ง และพี่น้องได้ร่วมกันสอนเชิงมวยให้แก่ลูกศิษย์หลายคนที่มีชื่อเสียงแล้วยังมีศิษย์สำนักท่าเสาอีกหลายคนคือ นายประพันธ์  เลี้ยงประเสริฐ นายเต่า คำฮ่อ (เชียงใหม่) นายศรี ชัยมงคล ผู้เป็นเพื่อนสนิทของครูพลอย และเป็นผู้ที่ ผล พระประแดง ยอมรับว่าเจ็บตัวมากที่สุดเมื่อได้ชกแพ้ นายศรี อย่างสะบักสะบอมชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นในชีวิตการต่อสู้เลย เพราะนายศรี มีอาวุธหนักหน่วงเกือบทุกอย่าง และรวดเร็ว อีกทั้งยังมีเชิงมวยสูงมากด้วย

     ครูมวยจากสายท่าเสาทั้ง 5 ได้จากไปหมดแล้ว โดยครูพลอย ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังหนุ่ม หลังจากนั้นก็ตามด้วย ครูฤทธิ์  สำหรับครูโต๊ะก่อนถึงแก่กรรมได้บวชจนได้เป็นเจ้าอาวาสวัด คุ้งตะเภา ครูแพ ถึงแก่กรรม เมื่อปี พ.ศ.2520 และครูโพล้ง ถึงแก่กรรม เมื่อปี พ.ศ.2522 มีอายุได้ 78 ปี ก่อนถึงแก่กรรม คณะกรรมการจัดงานพระยาพิชัยดาบหัก ซึ่งจัดให้มีการแข่งขันชกมวยประจำปีจะเชิญ ครูโพล้ง ขึ้นไปไหว้ครูร่ายรำตามแบบฉบับของสำนักมวยท่าเสาให้คนชมทุกปี หลังจากการจากไปของครูโพล้ง มวยไทยสายท่าเสา ได้ลดบทบาทลงไปอย่างมาก ยิ่งครูมวยใน

     ปัจจุบันสอนมวยตามแบบฉบับของสายมวยอื่น ๆ  มวยไทยสายครูเมฆ แห่งสำนักท่าเสาก็ยิ่งถูกลืมเลือนไป แม้แต่ชาวอุตรดิตถ์เองปัจจุบันยังไม่สามารถทราบหรือบอกความแตกต่างของมวยท่าเสากับมวยสายอื่น ๆ ได้เลย

     เอกลักษณ์ของมวยสายท่าเสา การไหว้ครูจะไหว้พระแม่ธรณีก่อนทำพิธีไหว้ครู การไหว้ครูมวยท่าเสาจะไหว้บรมครูก่อนคือ พระอิศวร เพราะถือว่าพระอิศวรเป็นผู้ประสิทธิประสาทวิชาการต่อสู้แบบฉบับมวยท่าเสา การกราบพระรัตนตรัย จะกราบในทิศหรดี

     (ทิศตะวันตกเฉียงใต้) ซึ่งเป็นทิศที่ผีฟ้าไม่ข้าม การนับหน้าไหว้ครูไปทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นไปตามประเพณีของพราหมณ์ ในการเห็นหน้าโบราณสถาน หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สอดคล้องกับความเชื่อว่าบรมครูของมวยท่าเสามีพระอิศวร และทิศตะวันออกเป็นทิศที่พระอาทิตย์ส่องแสงมาสู่โลก และมวลมนุษย์เป็นสัญญาลักษณ์ของวันใหม่และจุดเริ่มต้นที่เป็นมงคล หรือนักมวยก่อนกราบจะหันหน้าเข้าหาดนตรี ปี่ กลอง เพราะถือว่า ดนตรี ปี่ กลอง ได้ไหว้ครูหรือพระอิศวรแล้ว การจดมวยของมวยท่าเสามือซ้ายนำ และสูงกว่ามือขวา เมื่อเปลี่ยนเหลี่ยมมือขวานำและสูงกว่ามือซ้าย เมื่อตั้งมวยได้ถูกต้องและย่างแปดทิศได้คล่องแคล่วว่องไวแล้ว นักมวยจะต้องฝึกท่ามือสี่ทิศพร้อม ๆ กัน กับการจดมวยและย่างแปดทิศ ท่ามือต้องออกด้วยสัญชาตญาณเพื่อให้เกิดการ “หลบหลีก ปัด ป้อง ปิด” ในการป้องกันตัว การคาดเชือกสายมวยท่าเสาต้องเอาเชือกด้านตราสังผีมาลงคาถาอาคมแล้วบิดให้เขม็งเกลียง หลังจากนั้นเอามาขดก้นหอย 4 ขด แล้วเอาด้ายตราสังมาเคียนทำเป็นวง 4 วง รองข้างล่างก้นหอยอีกทีหนึ่ง เพื่อสวมเป็นสนับมือ เมื่อสวมนิ้วมือแล้วก็เอาด้ายตราสังมาเคียนทับอีกทีหนึ่ง จากนั้นเชือกที่คาดจะต้องลงรักและคลุกน้ำมันยาง จากนั้นก็คลุกแก้วบดอีกทีหนึ่งเป็นอันเสร็จพิธีคาดเชือก นักมวยสายท่าเสาจะต้องเสกพริกไทย 7 เม็ด กินทุกวันเพื่อให้อยู่ยงคงกะพันและเสกคาถากระทู้ 7 แบกประจำทิศบูรพา คือ อิ ระ ชา คะ ตะ ระ สา 15 จบ ก่อนขึ้นชกต้องเสกหมากหรือว่านเคี้ยวกินด้วยคาถาฝนแสนห่า ประจำทิศอาคเนย์ 8 จบ คือ ติ หัง จะ โต โร ถิ นัง ครูอาจเสกแป้งประหน้านักมวยก่อนชกด้วยนะจังงัง มวยท่าเสาอาจจะสูญสิ้นไปหากไม่มีการอนุรักษ์ สืบสาน ตำนานมวย “ลาวแกมไทย ตีนไวเหมือนหมา” เอาไว้ ลาวแกม หมายถึง คนเมืองอุตรดิตถ์ ซึ่งมีคนเมือง คนไทยภาคกลาง และคนลาวอยู่ร่วมกัน โดยคนเมืองอยู่เหนือแม่น้ำน่าน คนไทยอยู่ใต้แม่น้ำ และคนลาวอยู่ทางตะวันออก จึงมีการผสมผสานวัฒนธรรม ประเพณี และภาษาเข้าด้วยกัน ทั้งยังมีการแต่งงานระหว่างกันด้วย ทำให้คนอุตรดิตถ์มีลักษณะ “ลาวแกมไทย”

 

          ภาคใต้ มวยไชยา

     มวยไชยา หรือ มวยใต้ เป็นมวยไทยโบราณที่มีเอกลักษณ์พิเศษ คือ ท่ารำมวย การตั้งท่า ท่าไหว้ครู พันมือคาดเชือก มีความโดดเด่นของกระบวนท่า 7 ด้าน ประกอบด้วยท่าเสือลากหาง ท่าย่างสามขุม ท่าปั้นหมัด ท่าเต้นแร้งเต้นกา ท่าพับแขนพันหมัด ท่าพันหมัดพลิกเหลี่ยม และท่ากระโดดตบศอก

 

          ภาคอีสาน มวยโคราช

     มวยโคราช ถือกำเนิดมาจากจังหวัดนครราชสีมา มีความโด่งดังโดยเฉพาะช่วงสมัยรัชกาลที่ 5-6 มวยไทยโคราชมีเอกลักษณ์ คือ สวมกางเกงขาสั้น ไม่สวมเสื้อ สวมมงคลที่ศีรษะขณะชก การพันหมัดแบบคาดเชือก ตั้งแต่หมัดขึ้นไปจรดข้อศอก เพราะมวยโคราชเป็นมวยต่อยวงกว้าง และใช้หมัดเหวี่ยงควาย การพันเชือกเช่นนี้เพื่อป้องกันการเตะ ต่อยได้ดี การฝึกฝึกจากครูมวย     

     โดยเป็นครูมวยในหมู่บ้านต่อจากนั้น จึงได้รับการฝึกจากครูมวยในเมือง เมื่อเกิดความคล่องแคล่วแล้วทำพิธียกครู แล้วให้ย่างสามขุม และฝึกท่าอยู่กับที่ 5 ท่า ท่าเคลื่อนที่ 5 ท่า ฝึกลูกไม้แก้ทางมวย 11 ท่า ฝึกท่าแม่ไม้สำคัญ ประกอบด้วย ท่าแม่ไม้ครู 5 ท่า และท่าแม่ไม้สำคัญโบราณ 21 ท่า แล้วมีโคลงมวยเป็นคติสอนนักมวยด้วย พร้อมคำแนะนำ เตือนสติไม่ให้เกรงกลัวคู่ต่อสู้ 

     มวยไทยทั้ง 4 ภาคของไทยมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป แต่ก็ถือว่าเป็นมวยไทยที่ควรอนุรักษ์ไว้ เพราะเป็นศิลปะการต่อสู้สมัยโบราณที่เป็นจุดเริ่มของมวยในปัจจุบันนี้

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

ประเภทของมวยไทย

กระสอบทราย เพื่อนซ้อมคู่ใจนักมวย



บทความที่น่าสนใจ

สร้างซิกแพค ฉบับมวยไทย ( เจริญทองมวยไทยข้าวสาร )
การทรงตัว เทคนิค ที่สำคัญ ในการ ฝึกฝน มวยไทย ( Muay thai )