การแต่งกาย ของ นักมวยไทย ( Muay Thai ) ในสมัยโบราณ

Share : facebook share line share.png twitter share messenger share

การแต่งกาย ของ นักมวยไทย ( Muay Thai ) ในสมัยโบราณ



มวยไทย ( Muay Thai ) เป็นศิลปะการต่อสู้ ที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน การแต่งกายของ นักมวยไทย ในสมัยโบราณ จึงมีความแตกต่างจาก สมัยปัจจุบันเป็นอย่างมาก โดยการแต่งกายของนักมวยไทย ในสมัยโบราณ จะมีรูปแบบเป็นอย่างไร มาติดตามกันครับ

 

การแต่งกายของ นักมวยไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย ไม่ปรากฎหลักฐานที่ชัดเจนนัก แต่เมื่อใน สมัยกรุงศรีอยุธยา พบหลักฐาน ปรากฎว่า นักมวยไทย สวมกางเกงผ้าฝ้าย หูรูดเหน็บชายด้านหลัง สวมเสื้อยันต์ และการแต่งกายในลักษณะนี้ ถือปฏิบัติมาจนถึง สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น  การแต่งกาย ของ มวยไทย ( Muay Thai ) สมัยโบราณ ประกอบไปด้วย 3 ส่วนที่สำคัญ คือ เสื้อผ้าปกปิดร่างกาย หมัด และ เครื่องรางของขลัง

 

เสื้อผ้าปกปิดร่างกาย

 

เสื้อผ้าปกปิดร่างกาย คือ กางเกง ซึ่งในสมัยก่อน ไม่มีกางเกง ที่ใช้สวมใส่เฉพาะ เวลาขึ้นชกมวย ส่วนมากนักมวยจะสวม กางเกงขาสั้น ยาวประมาณแค่เข่า เป็นกางเกง ที่ใช้โดยทั่วไป ในชีวิตประจำวัน ตัวกางเกงไม่มีขอบกางเกง ใช้ผ้าขาวม้าพัน ให้หนาคาดทับ ระหว่างขาใช้แทนกระจับ และคาดเอว เพื่อให้กางเกงไม่หลุดเวลาขึ้นชก

 

นักมวยสมัยก่อน อาจมีการใส่ เสื้อยันต์ ที่ใช้ผ้าดิบสีแดง หรือสีขาว ตัดเป็นเสื้อกั๊ก คอกลมแขนกุด เขียนอักขระเลขยันต์ และรูปภาพต่าง ๆ ใช้สวมทับ เสื้อชนิดอื่น หรือสวมเพียงตัวเดียว เพราะเชื่อว่า จะช่วยป้องกันศาสตราวุธทุกชนิด แต่ส่วนใหญ่ เวลาชกมวย มักไม่ค่อยสวมเสื้อยันต์ แต่จะใช้เครื่องรางชนิดอื่นแทน

 

การสวมหมัด

 

การสวมหมัดในที่นี้ หากเทียบการแต่งกายในปัจจุบัน ก็คือ นวม ซึ่งในสมัยโบราณใช้การ "คาดเชือก" ที่ถือเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นอย่างหนึ่งของ มวยไทย ( Muay Thai ) เลยทีเดียว โดยการคาดเชือกที่มือ ใช้ด้ายดิบพันสันหมัด และข้อมือ ความยาว และลักษณะการพัน จะแตกต่างกันไป ตามภูมิลำเนา บ่งบอกถึงลักษณะ การใช้หมัด และศอกอีกด้วย ซึ่งการคาดเชือก จะช่วยให้ กระดูกนิ้วมือไม่เคล็ดง่าย และทำให้หมัดแข็ง เพิ่มน้ำหนักหมัดให้หนักแน่นกว่าหมัดธรรมดา บางคนอาจพันด้ายขนาดยาว เพราะต้องการใช้ หมัดบังหน้าด้วย

 

เครื่องรางของขลัง

 

มวยไทย ( Muay Thai ) ในสมัยโบราณ มีเครื่องรางของขลังอยู่ด้วยกันหลากหลาย ดังนี้

 

  • มงคล :  ทำจากสายสิญจ์หรือผ้าดิบ ที่เกจิอาจารย์เป็นผู้เขียนอักขระหัวใจมนตร์  คาถา และเลขยันต์ แล้วถักหรือม้วนพันด้วยด้ายหรือด้ายสายสิญจน์ ห่อหุ้มด้วยผ้าซึ่งผ่านพิธีกรรมจากครูบาอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคมทำเป็นวงสำหรับสวมศีรษะ โดยรวบเป็นหางยาวไว้ข้างหลัง มงคล ถือเป็นเครื่องรางให้สิริมงคล และคุ้มกันอันตรายใช้สวมศีรษะในขณะชก

 

  • ประเจียด : ใช้ผ้าสาลู ( ผ้าขาวบางเนื้อดี ) หรือผ้าดิบ สีขาวหรือสีแดง ตัดเป็นสามเหลี่ยม ลงเลขยันต์ มหาอำนาจ ส่วนใหญ่ จัดอยู่ในชุดวิชาคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด มหาอุด กำลังตัวหรือคุ้มกำลัง ภาษาที่ใช้เขียนมักเป็นอักขระโบราณ ที่พระครู หรือเกจิอาจารย์ จะเป็นผู้เขียน และทำพิธี ม้วนหรือถัก พันด้วยด้ายอาจใส่ว่าน ตระกรุด หรือเครื่องรางของขลังชนิดอื่น ไว้ข้างในผ้าประเจียดก็ได้ เป็นเครื่องรางคุ้มกันตัว ใช้ผูกติดกับต้นแขน ตลอดเวลา การแข่งขันชกมวย

 

  • ผ้ายันต์ : ผ้าดิบหรือผ้าเนื้อบาง สีขาวหรือสีแดงเขียนอักขระเลขยันต์และรูปภาพต่างๆ โดยเกจิอาจารย์ที่เชื่อถือว่ามีคาถาอาคมแก่กล้า วิธีทำคล้ายผ้าประเจียดแต่ผ้ายันต์มักเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้พกติดตัวหรือพันเป็นผ้าประเจียดก็ได้

 

  • พระเครื่อง : ทำด้วยโลหะ ผงปูน ดิน หรืออาจใช้วัตถุหลายชนิดจากแหล่งต่างๆ เพื่อเพิ่มความขลัง แล้วทำพิธีพุทธาพิเศกลงเลขยันต์ มีพิธีกรรม ที่รวมการบวงสรวง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย การบริกรรมคาถาอาคมต่าง ๆ นักมวย จะพกพระเครื่องติดตัว โดยพันไว้ในมงคล หรือผ้าประเจียด บ้างก็ใช้อมไว้ในปากเวลาชก แต่วิธีนี้ไม่ค่อยนิยม เพราะอาจเป็นอันตรายต่อตนเองได้

 

  • ตะกรุด : ใช้แผ่นโลหะบางรูปสี่เหลี่ยม เช่น ทอง เงิน นาก ทองแดง หรือใบลาน และกระดาษสา ลงเลขยันต์ คาถาอาคมเช่นเดียวกับลงผืนผ้า เพื่อทำประเจียด แล้วม้วนให้กลม ตรงกลางเว้นช่องว่างสำหรับใช้สายเชือกร้อยสำหรับคาดบั้นเอว คล้องคอ หรือคาดไว้ที่ต้นแขน หากใส่ในมงคลหรือประเจียดมักจะใช้ตะกรุดขนาดเล็ก

 

  • พิสมร : ทำด้วยแผ่นโลหะ หรือใบลาน รูปสี่เหลี่ยม ลงเลขยันต์ มีที่ร้อยสายแต่โดยมาก ไม่ม้วนให้กลมอย่างตะกรุด ต้องผ่านพิธีกรรม เช่นเดียวกับตะกรุด

 

  • แหวนพิรอด : ทำด้วยกระดาษสา หรือถักด้วยหวาย ผ่านพิธีกรรมแล้วลงรักปิดทองเรียกว่า “กำลังพิรอด” ใช้สวมต้นแขน หรือ แขวนพิรอดใช้สวมนิ้ว เป็นของวิเศษหายาก และเชื่อว่ามีอานุภาพมาก

 

  • ว่าน : เป็นพืช ที่มีสรรพคุณหลายอย่าง บางชนิดเชื่อว่า ทำให้ผิวหนัง ทนความร้อน หรือ หนังเหนียว จึงนิยมนำมาเป็นเครื่องรางของขลัง โดยการปลุกเสกคาถาอาคม เช่นเดียวกับ เครื่องรางของขลังชนิดอื่น ใช้พกติดตัวใส่ในมงคล ประเจียด หรือใช้เป็นส่วนผสม ในการทำพระเครื่อง

 

การแต่งกายของ นักมวยไทย ในปัจจุบัน มีความเปลี่ยนแปลงไปจาก ในสมัยโบราณอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของ เครื่องรางของคลัง ที่นักมวยไทย สมัยโบราณ ใช้เพื่อเป็นสิริมงคลและคุ้มครองตนเอง แต่ในปัจจุบัน มีการใช้อุปกรณ์เสริมเพิ่มเติม เพื่อป้องกันอันตรายแก่นักมวยอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น อย่างการใช้ นวม กระจับ หรือฟันยาง เป็นต้น

 

ขอบคุณรูปภาพจาก Freepik

 

อ่านบทความเพิ่มเติม

การรีดน้ำหนัก แบบ นักชก มวยไทย ( Muay Thai )

การดูแลรักษา อุปกรณ์มวยไทย หลังใช้งาน



บทความที่น่าสนใจ

ทักษะ การฝึกฝน มวยไทย ( Muay Thai ) เบื้องต้น
MUAY THAI กีฬาที่ให้มากกว่าแค่ ออกกำลัง