ที่มาที่ไปแม่ไม้มวยไทย

Share : facebook share line share.png twitter share messenger share

ที่มาที่ไปแม่ไม้มวยไทย



เราอาจเคยได้ยินคำว่า แม่ไม้มวยไทยมานมนาน แท้จริงแล้วความหมายไม่ได้เรียกไว้ให้ดูเท่ ๆ แต่เพียงเท่านั้น แต่ยังมีความหมายในเชิงปฏิบัติ ที่แอบแฝงไปด้วยรหัสอันตราย มาดูที่มาที่ไปของแม่ไม้มวยไทยกันค่ะ

 

     แม่ไม้ในมวยไทย คืออะไร เพราะความหมายของมวยไทยแท้จริงแล้ว คือศิลปะการรุกและรับ เป็นการเลือกใช้ไม้มวยไทย และกลวิธีต่าง ๆ ผสมผสานให้เข้ากัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ไม้มวยไทย ที่ใช้ในมวยไทย นั้นได้แก่ หมัด, เท้า, เข่า และศอก เพราะการใช้หมัดชกคู่ต่อสู้ เรียกว่า "ไม้หมัด" และการใช้เท้าเตะคู่ต่อสู้เรียกว่า "ไม้เตะ" การใช้เท้าถีบ ก็ต้องเรียกว่า "ไม้ถีบ" การใช้เข่าเรียกว่า "ไม้เข่า" การใช้ศอก ก็เรียกว่า "ไม้ศอก" และยังมีการแบ่งตามลักษณะความสั้น-ยาว ของการใช้ไม้มวยไทยอีกด้วย โดยแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ไม้สั้น และไม้ยาว เช่น การใช้หมัดเหวี่ยงสั้น, หมัดงัด, ศอกและเข่า เรียกว่า "ไม้สั้น" การใช้เท้าเตะ ใช้เท้าถีบ หมัดเหวี่ยงยาว เรียกว่า "ไม้ยาว" นั่นเอง

     ดังนั้นการเตะ, ถีบ, เข่า และศอก เรียกว่า "แม่ไม้" ส่วนการต่อย หมัดงัด หมัดเหวี่ยงสั้น-ยาว การเตะตรง, เตะตัด, เตะตวัด, เตะเฉียง, เตะกลับหลัง, ถีบตรง, ถีบข้าง, ถีบกลับหลัง, เข่าตรง, เข่าเฉียง, เข่าตัด, เข่าลอย, ศอกตี, ศอกตัด, ศอกกลับหลัง, ศอกพุ่ง เหล่านี้เรียกว่า "ลูกไม้"

 

           ไม้รุก คืออะไร?

     ไม้รุก คือ หลักวิชาการในการใช้ไม้มวยต่าง ๆ มาประกอบกันเพื่อเป็นการรุกโจมตีคู่ต่อสู้ มีทั้งการหลอกล่อ และเข้าสู้กันจริง โดยทั่วไป ไม้นำของไม้รุกจะเป็นไม้ยาว มีความเร็ว รัดกุม มีหลักมั่นคง สามารถใช้ไม้อื่นต่อไปได้ เช่น การถีบตรง, การเตะเฉียง, เตะลิด ส่วนไม้ตามนั้นจะเป็นไม้ยาวหรือไม้สั้นก็ได้

     ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการใช้ไม้จังหวะแรกว่าได้ผลดีประการใด ดังนั้นจึงนิยมใช้ไม้มวยแบบสลับบนล่าง หรือซ้ายสลับขวา เพื่อให้คู่ต่อสู้พะวง ถ้าใช้ไม้รุกเฉพาะส่วน หรือส่วนล่างอย่างเดียว จะง่ายต่อการป้องกันแก้ไข โดยทั่วไป ไม้รุก มีตั้งแต่จังหวะเดียวขึ้นไป จนไม่จำกัดจำนวน แต่นิยมใช้และได้ผลดี รวมไปถึงการฝึกหัดได้ง่าย คือ ไม้รุก 1 จังหวะ, 2 จังหวะ และ 3 จังหวะ

  • ไม้รุก 1 จังหวะ คือ การรุกเข้าไปแล้วใช้ไม้มวยเพียงอย่างเดียว เช่น การชกหมัดตรงขวา, เตะขวา,

โยนเข่าขวา หรือด้านที่ถนัดที่สุด เรียกว่า "ไม้รุกจังหวะเดียว"

  • ไม้รุก 2 จังหวะ คือ การรุกเข้าไปใช้ไม้มวย 2 จังหวะ โดยในจังหวะที่ 1 เป็นไม้หลอก เพื่อให้คู่ต่อสู้

เสียหลัก แล้วตามไปใช้ไม้จริงในจังหวะที่ 2 ต้องตามกันไปอย่างรวดเร็ว เรียกว่า "ไม้รุก 2 จังหวะ"

  • ไม้รุก 3 จังหวะ คือ การรุกเข้าไปใช้ไม้มวยจังหวะที่ 1, 2 และ 3 ติดต่อกัน เช่น ต่อยหมัดนำ, หมัด

ตรง  แล้วเตะตาม ถ้าฝึกจนเกิดความชำนาญแล้ว ก็สามารถใช้ไม้สั้น เช่น ศอก, เข่า, หมัดตวัด, หมัดงัด เป็นไม้นำได้เช่นกัน

  • ไม้รุก 4 จังหวะ คือ การรุกเข้าไปใช้ไม้มวยจังหวะที่ 1, 2 และ 3 ติดต่อกัน และไม้รุกที่ออกไปต่างก็

หวังผลทั้งหมด แล้วแต่โอกาส ส่วนมากจังหวะที่ 1 และ2 เป็นไม้หลอก จังหวะที่ 3 และ 4 เป็นไม้จริง

 

          ไม้รับ คืออะไร?

     ไม้รับ คือ หลักวิชาการในการนำเอาไม้มวยต่าง ๆ มาประกอบเข้าด้วยกัน เพื่อแก้ไขการจู่โจมของฝ่ายรุก ไม้มวยชนิดหนึ่ง อาจแก้การจู่โจมของไม้มวยชนิดเดียวกัน หรือต่างชนิดก็ได้ หรือแก้ทีละไม้ เช่น แก้การต่อย, แก้การเตะ, แก้การถีบ, แก้การศอก แต่ในการชกมวยจริง ๆ ไม่ได้ชก หรือเตะเพียงจังหวะเดียว แต่จะรุกเป็นชุด เช่น ต่อยนำ, เตะตาม แล้วเข่าตาม หรือต่อยตามเข่า

     ความหมายรวมไปถึงการทำทุกอย่างเพื่อแก้ไขการจู่โจม เช่น การถอยออกให้พ้นระยะ เพื่อไม่ให้ถูกอาวุธของคู่ต่อสู้, การหลบหลีก, การปัดป้อง และการตอบโต้ ซึ่งมีการชิงลงมือก่อน การถอยแล้วตอบโต้ การหลบหลีกแล้วตอบโต้

     ไม้รับในที่นี้ จะกล่าวถึงการรับไม้มวยของคู่ต่อสู้ทีละชนิดตามลำดับ เริ่มตั้งแต่รับการต่อย, รับการเตะ,  รับการถีบ, รับการเข่า และรับการศอก โดยอาศัยการถอย, หลบหลีก, ปัดป้อง และตอบโต้ด้วยไม้มวยต่าง ๆ อาทิ

- การหลอกล่อ คือ การเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อให้คู่ต่อสู้เข้าใจผิด หรือเพื่อไม่ให้คู่ต่อสู้จับทางเราได้ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวอวัยวะต่างๆ โดยไม่เคลื่อนที่ไปจากที่เดิม

- หลอกด้วยสายตา คือ มองสูงแต่ใช้ไม้มวยไปสู่เป้าหมายที่ต่ำ หรือมองต่ำแต่ใช้ไม้มวยไปสู่เป้าหมายที่สูง

- หลอกด้วยศีรษะ คือ การเคลื่อนไหวศีรษะไปมาทั้งด้านซ้ายและด้านขวา เพื่อให้คู่ต่อสู้หลงทาง

- หลอกล่อด้วยการเคลื่อนไหวลำตัว คือ การอาศัยความอ่อนตัว เช่น การโยกเอวหรือโยกลำตัวไปทางซ้ายและขวา

- การถอยให้พ้นระยะ คือ การถอยให้ห่างจากคู่ต่อสู้ อาจกระโดดเคลื่อนเท้าถอยหลัง หรือก้าวถอยหลัง แต่ต้องให้พ้นระยะไม้มวยของคู่ต่อสู้ ในการถอยเมื่อพ้นระยะแล้ว จะต้องอยู่ในท่าที่พร้อมจะตอบโต้คู่ต่อสู้ทันที

- การโยกตัวหรือการเอนตัวให้พ้นระยะ คือ การโยกตัวหรือเอนตัวออกให้พ้นระยะคู่ต่อสู้

- การหลบหลีก คือ การเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อหลบหลีกไม้มวยของคู่ต่อสู้ที่จู่โจมมา อาจใช้วิธีก้มตัวหลบด้านซ้ายและขวา

- การปัดให้เบี่ยงเบนออกไป คือ การใช้มือหรือแขนปัดไม้มวยไปยังเป้าหมายอื่น

- การปัดป้อง คือ การใช้ส่วนต่าง ๆ ที่แข็งแรงของร่างกายปัดป้องอวัยวะที่เป็นจุดอ่อนของร่างกาย เช่น การใช้เข่าปัดป้องท้อง รวมถึงบริเวณลำตัว การใช้ศอกและเข่าบริเวณหน้าอก

- การบังเกาะจับ คือ การบังไม่ให้ไม้มวยคู่ต่อสู้ปะทะกับตัวเรา การบังนั้นจะต้องอาศัยการผ่อนแรงถูกจังหวะและเหมาะสมจึงจะได้ผลดี เมื่อบังเกาะจับได้แล้ว ก็สามารถใช้ไม้มวยตอบโต้ได้ทันที

- การทำให้ล้ม ในมวยไทยมีหลายแบบ แต่ที่ถูกต้องตามกติกาคือ ใช้วิธีการบังเกาะจับแล้วผลักให้ล้ม หรือการกอดรัดแล้วเหวี่ยงให้ล้ม

 

     และหากคุณกำลังมองหาสถานที่ฝึก มวยไทย หรืออยากเรียนมวยไทย มาฝึกกับเราได้ที่ เจริญทองมวยไทยยิม ( Jaroenthong Muay Thai Gym ) กับสาขาที่ใกล้และสะดวกที่สุด ซึ่งมีให้เลือกถึง 3 สาขา (สาขาข้าวสาร, สาขาศรีนครินทร์, สาขารัชดา)

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

ศาสตราวุธของมวยไทยที่อันตรายที่สุด

เคล็ดลับการเลือกกระสอบทราย



บทความที่น่าสนใจ

ทำไมต้องฝึกมวยไทย
ความพิเศษของกีฬา มวยไทย ที่ไม่ได้มีดีแค่ หมัด