muaythaiera

Share : facebook share line share.png twitter share messenger share

พัฒนาการของ มวยไทย ในแต่ละสมัย



มวยไทย เป็นกีฬาประจำชาติไทยที่มีประวัติศาสตร์มาช้านาน ซึ่งบรรพบุรุษของเราได้สรรสร้างไว้เป็นศิลปะป้องกันตัว ป้องกันบ้านเมือง เพื่อให้ชาติไทยอยู่ยงคงความเป็นเอกราชมาได้จนถึงปัจจุบัน

 

สมัยสุโขทัย (พ.ศ. 1781 - 1921)

ในสมัยนี้ การต่อสู้มือเปล่าด้วยวิชามวยไทย มีใช้อยู่ในการต่อสู้กับข้าศึก และเป็นการใช้ร่วมกับอาวุธต่าง ๆ สถานที่ที่เป็นสำนักฝึกสอนมวยไทยในสมัยนี้ ได้แก่ วัด บ้าน สำนักราชบัณฑิต ที่เปิดสอนวิชาการต่อสู้ป้องกันตัวรวมอยู่ด้วย

 

 

สมัยอยุธยา (พ.ศ. 1893 - 2310)

สมัยนี้การถ่ายทอดวิชาการต่าง ๆ มาจากสมัยสุโขทัยอย่างต่อเนื่องกัน เช่น การฆ่าสัตว์ การคล้องช้าง การฟ้องรำ และการละเล่นต่าง ๆ และวัดก็คงเป็นสถานที่ให้ความรู้ ทั้งสามัญและฝึกความชำนาญในเชิงดาบ กระบี่กระบอง กริช มวยไทย ยิงธนู เป็นต้น

 

ต่อมาใน พ.ศ.2174 - 2233 สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นับว่าเจริญที่สุด มีนายขนมต้ม ที่ได้สร้างประวัติศาสตร์มวยไทยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน นายขนมต้ม จึงเป็นนักมวยเอกคนแรกของไทย ที่ได้ประกาศฝีมือลายมือมวยไทยในต่างแดน และยังเปรียบเสมือนกับเป็น "บิดาวิชามวยไทย" มาจนถึงทุกวันนี้

 

 

สมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ. 2314)

พม่ายกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ และมาตีเมืองพิชัย พระยาพิชัยดาบหัก (นายทองดีฟันขาว) ซึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเข้าตากสิน) ได้โปรดให้ครองเมืองพิชัยอยู่นั้น ได้นำทัพออกต่อสู้กับพม่าจนดับหัก แต่ก็สามารถป้องกันเมืองพิชัยเอาไว้ได้ ประชาชนทั่วไปจึงเรียกว่า "พระยาพิชัยดาบหัก" ตั้งแต่นั้นมา ซึ่งต่อมาพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้แต่งตั้งนายทองดีไปครองเมืองพิชัย และมีความชอบได้เป็นถึงพระยาพิชัย ต่อมาคนในตระกูลของพระยาพิชัยดาบหักก็ได้รับราชการมาตั้งแต่สมัยนั้นจนถึงรัชกาลที่ 6 ก็ได้พระราชทานนามสกุลว่า วิชัยขัทคะ แปลว่า ดาบวิเศษของพระวิชัย

 

 

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ในปีพ.ศ. 2325 ในระยะต้น รัชกาลที่ 1-5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นกษัตริย์ไทยที่ทรงโปรดการกีฬามาก เช่น สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ร.1) ทรงโปรดกีฬามวยไทยเป็นอย่างมาก ในสมัยนั้นได้มีฝรั่งสองคนพี่น้องเข้ามาหาคู่ชกมวยชนิดมีเดิมพัน พระองค์ได้จัดส่งหมื่นผลาญ นักมวยผู้เก่งกาจขึ้นชกกับฝรั่งสองพี่น้อง แม้หมื่นผลาญจะมีร่างกายเล็กเสียเปรียบฝรั่งมาก แต่ด้วยศิลปะะมวยไทย อาวุธหมัด เท้า เข่า ศอก ฝรั่งสองพี่น้องจึงพ่ายแพ้ยับเยินกลับไป

 

ในสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) ได้โปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอหลายพระองค์หัดเล่นกระบี่กระบอง พระองค์มีความชำนาญในกีฬามวยไทย จึงจัดให้มีการแข่งขันชกมวยขึ้นในชนบทและในกรุง นอกจากนี้ ได้ทรงแต่งตั้งผู้มีฝีมือในกีฬามวยไทยให้เป็นหัวหน้าในการจัดกีฬาและให้ยศตำแหน่งด้วย

 

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 แม้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 พ.ศ.2463 แต่ก็ได้เกิดสนามมวยขึ้นครั้งแรก ระบุว่าได้มีสนามมวยสวนกุหลาบ เกิดขึ้นในปีพ.ศ.2463 คือ สนามมวยสวนกุหลาบ จัดให้มีการชกมวยไทยเป็นประจำ เมื่อแรกเริ่มนั้นให้นักมวยชกกันบนพื้นดิน ผู้ดูนั่งและยืนอยู่รอบบริเวณสังเวียน ซึ่งกว้างกว่า 20 เมตร มีการขีดเส้นกำหนดให้นั่งห้ามล้ำเข้าไปในเขตสังเวียน

 

ด้านนักมวย คาดเชือกที่พันมือด้วยด้ายดิบ สวมมงคล แม้ขณะชกก็ต้องสวมอยู่ มีผ้าประเจียดมัดไว้ที่ต้นแขนซ้ายและขวา สวมกางเกงขาสั้นมีผ้าพาดทับอย่างแน่นหนาตรงบริเวณอวัยวะสำคัญปกคลุมมาจนถึงด้านบนตรงเอว ไม่สวมเสื้อและปลายเท้าเปลือยเปล่า กรรมการแต่งกายด้วยผ้าม่วง นุ่งโจงกระเบน สวมถุงเท้าขาวเสื้อราชประแตน

 

ในสมัยปัจจุบัน ได้ทำการแข่งขัน ณ เวทีราชดำเนินและเวทีลุมพิณีเป็นประจำ และยังมีเวทีมวยที่เปิดการแข่งขันถาวรและชั่วคราวทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอีกมากมาย ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ.2542 มีสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย ของการกีฬาแห่งประเทศไทย ที่ได้จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. นี้ให้มีหน้าที่ส่งเสริม คุ้มครอง สนับสนุนและควบคุมกิจการมวยไทยในประเทศไทยให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฏหมายอีกด้วย

 

กีฬามวยไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปตามบริบททางสังคม โดยในขณะนี้ มวยไทย ได้ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งที่ทำรายได้ให้แก่คนกลุ่มหนึ่ง ทั้งคนไทยและคนต่างประเทศ ทำให้คนสนใจฝึกหัดมวยไทยกันอย่างจริงจัง เพื่อเป็นอาชีพของตนเอง มีรายได้พอเลี้ยงชีพได้อย่างหนึ่ง โดยมีเงินจากการแข่งขันเป็นรางวัลตอบแทน

 

ขอบคุณข้อมูลจาก กรมพลศึกษา

 

อ่านบทความเพิ่มเติม

มวยไทยโบราณ 4 ภาค

อาวุธป้องกันตัวในแบบฉบับ มวยไทย



บทความที่น่าสนใจ

มวยไทย 5 สาย ศิลปะที่อยู่กับ ไทย มาอย่างยาวนาน
ท่าออกกำลังกาย ของนัก มวยไทย ( Muay Thai )