แม่ไม้ในมวยไทย คืออะไร

Share : facebook share line share.png twitter share messenger share

แม่ไม้ในมวยไทย คืออะไร



เราอาจเคยได้ยินคำว่า แม่ไม้มวยไทย มานมนาน แท้จริงแล้วความหมายไม่ได้เรียกไว้ให้ดูเท่ๆ แต่เพียงเท่านั้น แต่ยังมีความหมายในเชิงปฏิบัติ ที่แอบแฝงไปด้วยรหัสอันตราย ความหมายที่ว่านั้น คืออะไรกัน?

 

     แม่ไม้ ในมวยไทย คืออะไร เพราะความหมายของมวยไทย แท้จริงแล้ว คือศิลปะการรุกและรับ เป็นการเลือกใช้ไม้มวยไทย และกลวิธีต่างๆ ผสมผสานให้เข้ากัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ไม้มวยไทย ที่ใช้ในมวยไทย นั้นได้แก่ หมัด, เท้า, เข่า และศอก เพราะการใช้หมัดชกคู่ต่อสู้ เรียกว่า "ไม้หมัด" และการใช้เท้าเตะคู่ต่อสู้เรียกว่า "ไม้เตะ" การใช้เท้าถีบ ก็ต้องเรียกว่า "ไม้ถีบ" การใช้เข่าเรียกว่า "ไม้เข่า" การใช้ศอก ก็เรียกว่า "ไม้ศอก" และยังมีการแบ่งตามลักษณะความสั้น - ยาว ของการใช้ไม้มวยไทย อีกด้วย โดยแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ไม้สั้น และไม้ยาว เช่น การใช้หมัดเหวี่ยงสั้น, หมัดงัด, ศอกและเข่า เรียกว่า "ไม้สั้น" การใช้เท้าเตะ ใช้เท้าถีบ หมัดเหวี่ยงยาว เรียกว่า "ไม้ยาว" นั่นเอง

 

     ดังนั้นการเตะ, ถีบ, เข่า และศอก เรียกว่า "แม่ไม้" ส่วนการต่อย หมัดงัด หมัดเหวี่ยงสั้น - ยาว การเตะตรง, เตะตัด, เตะตวัด, เตะเฉียง, เตะกลับหลัง, ถีบตรง, ถีบข้าง, ถีบกลับหลัง, เข่าตรง, เข่าเฉียง, เข่าตัด, เข่าลอย, ศอกตี, ศอกตัด, ศอกกลับหลัง, ศอกพุ่ง เหล่านี้เรียกว่า "ลูกไม้"

 

ไม้รุก คืออะไร?

     ไม้รุก คือ หลักวิชาการในการใช้ไม้มวยต่างๆ มาประกอบกันเพื่อเป็นการรุกโจมตีคู่ต่อสู้ มีทั้งการหลอกล่อ และเข้าสู้กันจริง โดยทั่วไป ไม้นำของไม้รุกจะเป็นไม้ยาว มีความเร็ว รัดกุม มีหลักมั่นคง สามารถใช้ไม้อื่นต่อไปได้ เช่น การถีบตรง, การเตะเฉียง, เตะลิด ส่วนไม้ตามนั้นจะเป็นไม้ยาวหรือไม้สั้นก็ได้

 

     ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการใช้ไม้จังหวะแรกว่าได้ผลดีประการใด ดังนั้นจึงนิยมใช้ไม้มวยแบบสลับบนล่าง หรือซ้ายสลับขวา เพื่อให้คู่ต่อสู้พะวง ถ้าใช้ไม้รุกเฉพาะส่วน หรือส่วนล่างอย่างเดียว จะง่ายต่อการป้องกันแก้ไข โดยทั่วไป ไม้รุก มีตั้งแต่จังหวะเดียวขึ้นไป จนไม่จำกัดจำนวน แต่นิยมใช้และได้ผลดี รวมไปถึงการฝึกหัดได้ง่าย คือ ไม้รุก 1 จังหวะ, 2 จังหวะ และ 3 จังหวะ

 

     ไม้รุก 1 จังหวะ คือ การรุกเข้าไปแล้วใช้ไม้มวยเพียงอย่างเดียว เช่น การชกหมัดตรงขวา, เตะขวา, โยนเข่าขวา หรือด้านที่ถนัดที่สุด เรียกว่า "ไม้รุกจังหวะเดียว"

 

     ไม้รุก 2 จังหวะ คือ การรุกเข้าไปใช้ไม้มวย 2 จังหวะ โดยในจังหวะที่ 1 เป็นไม้หลอก เพื่อให้คู่ต่อสู้เสียหลัก แล้วตามไปใช้ไม้จริงในจังหวะที่ 2 ต้องตามกันไปอย่างรวดเร็ว เรียกว่า "ไม้รุก 2 จังหวะ"

 

     ไม้รุก 3 จังหวะ คือ การรุกเข้าไปใช้ไม้มวยจังหวะที่ 1, 2 และ 3 ติดต่อกัน เช่น ต่อยหมัดนำ, หมัดตรง  แล้วเตะตาม ถ้าฝึกจนเกิดความชำนาญแล้ว ก็สามารถใช้ไม้สั้น เช่น ศอก, เข่า, หมัดตวัด, หมัดงัด เป็นไม้นำได้เช่นกัน

 

     ไม้รุก 4 จังหวะ คือ การรุกเข้าไปใช้ไม้มวยจังหวะที่ 1, 2 และ 3 ติดต่อกัน และไม้รุกที่ออกไปต่างก็หวังผลทั้งหมด แล้วแต่โอกาส ส่วนมากจังหวะที่ 1 และ2 เป็นไม้หลอก จังหวะที่ 3 และ 4 เป็นไม้จริง

 

ไม้รับ คืออะไร?

     ไม้รับ คือ หลักวิชาการในการนำเอาไม้มวยต่างๆ มาประกอบเข้าด้วยกัน เพื่อแก้ไขการจู่โจมของฝ่ายรุก ไม้มวยชนิดหนึ่ง อาจแก้การจู่โจมของไม้มวยชนิดเดียวกัน หรือต่างชนิดก็ได้ หรือแก้ทีละไม้ เช่น แก้การต่อย, แก้การเตะ, แก้การถีบ, แก้การศอก แต่ในการชกมวยจริงๆ ไม่ได้ชก หรือเตะเพียงจังหวะเดียว แต่จะรุกเป็นชุด เช่น ต่อยนำ, เตะตาม แล้วเข่าตาม หรือต่อยตามเข่า

 

     ความหมายรวมไปถึงการทำทุกอย่างเพื่อแก้ไขการจู่โจม เช่น การถอยออกให้พ้นระยะ เพื่อไม่ให้ถูกอาวุธของคู่ต่อสู้, การหลบหลีก, การปัดป้อง และการตอบโต้ ซึ่งมีการชิงลงมือก่อน การถอยแล้วตอบโต้ การหลบหลีกแล้วตอบโต้

 

     ไม้รับในที่นี้ จะกล่าวถึงการรับไม้มวยของคู่ต่อสู้ทีละชนิดตามลำดับ เริ่มตั้งแต่รับการต่อย, รับการเตะ,  รับการถีบ, รับการเข่า และรับการศอก โดยอาศัยการถอย, หลบหลีก, ปัดป้อง และตอบโต้ด้วยไม้มวยต่างๆ อาทิ

 

- การหลอกล่อ คือ การเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อให้คู่ต่อสู้เข้าใจผิด หรือเพื่อไม่ให้คู่ต่อสู้จับทางเราได้ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวอวัยวะต่างๆ โดยไม่เคลื่อนที่ไปจากที่เดิม

- หลอกด้วยสายตา คือ มองสูงแต่ใช้ไม้มวยไปสู่เป้าหมายที่ต่ำ หรือมองต่ำแต่ใช้ไม้มวยไปสู่เป้าหมายที่สูง

- หลอกด้วยศีรษะ คือ การเคลื่อนไหวศีรษะไปมาทั้งด้านซ้ายและด้านขวา เพื่อให้คู่ต่อสู้หลงทาง

- หลอกล่อด้วยการเคลื่อนไหวลำตัว คือ การอาศัยความอ่อนตัว เช่น การโยกเอวหรือโยกลำตัวไปทางซ้ายและขวา

- การถอยให้พ้นระยะ คือ การถอยให้ห่างจากคู่ต่อสู้ อาจกระโดดเคลื่อนเท้าถอยหลัง หรือก้าวถอยหลัง แต่ต้องให้พ้นระยะไม้มวยของคู่ต่อสู้ ในการถอยเมื่อพ้นระยะแล้ว จะต้องอยู่ในท่าที่พร้อมจะตอบโต้คู่ต่อสู้ทันที

- การโยกตัวหรือการเอนตัวให้พ้นระยะ คือ การโยกตัวหรือเอนตัวออกให้พ้นระยะคู่ต่อสู้

- การหลบหลีก คือ การเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพื่อหลบหลีกไม้มวยของคู่ต่อสู้ที่จู่โจมมา อาจใช้วิธีก้มตัวหลบด้านซ้ายและขวา

- การปัดให้เบี่ยงเบนออกไป คือ การใช้มือหรือแขนปัดไม้มวยไปยังเป้าหมายอื่น

- การปัดป้อง คือ การใช้ส่วนต่างๆ ที่แข็งแรงของร่างกายปัดป้องอวัยวะที่เป็นจุดอ่อนของร่างกาย เช่น การใช้เข่าปัดป้องท้อง รวมถึงบริเวณลำตัว การใช้ศอกและเข่าบริเวณหน้าอก

- การบังเกาะจับ คือ การบังไม่ให้ไม้มวยคู่ต่อสู้ปะทะกับตัวเรา การบังนั้นจะต้องอาศัยการผ่อนแรงถูกจังหวะและเหมาะสมจึงจะได้ผลดี เมื่อบังเกาะจับได้แล้ว ก็สามารถใช้ไม้มวยตอบโต้ได้ทันที

- การทำให้ล้ม ในมวยไทยมีหลายแบบ แต่ที่ถูกต้องตามกติกาคือ ใช้วิธีการบังเกาะจับแล้วผลักให้ล้ม หรือการกอดรัดแล้วเหวี่ยงให้ล้ม

 

     และหากคุณกำลังมองหาสถานที่ฝึก มวยไทย หรืออยากเรียนมวยไทย มาฝึกกับเราได้ที่ เจริญทองมวยไทยยิม ( Jaroenthong Muay Thai Gym ) กับสาขาที่ใกล้และสะดวกที่สุด ได้เลย

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ohlor

 

อ่านบทความเพิ่มเติม

- ผู้หญิง ได้อะไรจากมวยไทย

- ต่อย มวยไทย ยังไงให้ลดความอ้วนได้



บทความที่น่าสนใจ

สร้างกล้ามเนื้อ แบบมวยไทย
ฝึกฝน มวยไทย ช่วยลดน้ำหนักอย่างดี